ความเป็นมาของ
มานิ

พวกเราต้องการให้เรียกเราว่า “มานิ” เพราะมานิ แปลว่า "มนุษย์"  ส่วนคำว่า "เงาะป่า" หรือ "ซาไก" นั่น แปลว่า   "คนป่า" หรือ "คนเถื่อน" มันไม่ถูกต้อง  

การไหลเวียนถิ่นฐาน  "มานิ"  เขาบรรทัด

มานิ เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเทือกนครศรีธรรมราชหรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่าเทือกเขาบรรทัดที่ใช้เป็นสันปันเขตปกครองจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา และเทือกเขาสันการาคีรีที่ใช้เป็นสันปันเขตแดนประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ทั้งสองเทือกเขามีความสำคัญเป็นจุดสูงสุดของแผ่นดินที่ฝั่งตะวันออกทอดตัวลงไปยังชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งตะวันตกทอดตัวลงไปยังชายฝั่งทะเลอันดามัน และอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรสนามแม่เหล็กโลก ทำให้พื้นที่สูงเขตภูเขากว่าร้อยละ 80 เป็นระบบนิเวศป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารและถิ่นกำเนิดอาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด เป็นศูนย์กลางบ่งชี้ความสมดุลของสิ่งมีชิวิตในระบบนิเวศป่าดิบชื้น รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองนามเรียกขาน มานิ

ชนเผ่าพื้นเมืองมานิ เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมตามประวัติศาสตร์นับพันปี ที่ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มคนยุคเริ่มแรกก่อนการลงหลักปักฐานสร้างบ้านเมืองถาวร และเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่ยังคงรักษาองค์ความรู้ของการใช้ชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติในผืนป่าภาคใต้ของประเทศไทย โดยปราศจากซึ่งมายาคติด้านสิทธิเหนือพื้นดินใดๆ แต่เต็มไปด้วยหลักธรรมาธิปไตยว่าด้วยการเกื้อกูลและแบ่งปันอย่างเท่าเทียมภายใต้การสร้างกลไกการป้องกันตัวเองตามการตัดสินใจขั้นพื้นฐาน

การดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวมานิจึงเป็นที่สนใจของการศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เป็นจำนวนหนึ่งเมื่อครั้งการเข้ามาของกลุ่มนักวิชาการตะวันตก มาจนถึงนักวิชาการชาวไทยในหลากหลายสาขาและมุมมองทางวิชาการ จึงทำให้กลุ่มชนเผ่ามานิถูกเรียกชื่อตามการตีความของนักวิชาการเหล่านั้นไปในชื่อ “เซมัง” “ซาไก” “โอรังอสาลี” และคำว่า “เงาะป่า” เป็นการเรียกของคนในสังคมภาคใต้และวรรณคดีพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ เรื่อง “สังข์ทอง” และรัชกาลที่ ๕ เรื่อง “เงาะป่า”  ในขณะที่คนชนเผ่าเองชอบให้เรียกว่า “มานิ” หรือ “มันนิ” มากกว่า เพราะมานิ หรือ มันนิ แปลว่า มนุษย์  ส่วนคำอื่นๆ แปลว่า คนป่า คนเถื่อน ยกเว้นคำว่า “โอรังอสาลี” ที่เป็นภาษามลายูแปลว่า ชนพื้นเมือง ทั้งนี้ผู้ที่สนใจศึกษามานุษยวิทยาชาติพันธุ์อาจต้องสืบค้นข้อมูลให้ได้ข้อสรุปกันต่อไป

ชนเผ่าพื้นเมืองมานิเป็นคนดั้งเดิมในแหลมมลายู เป็นผู้บุกเบิกเข้ามาอยู่อาศัยใช้ชีวิตเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหารครอบครองพื้นที่ในผืนป่าแหลมมลายูมามายาวนานหลายร้อยหลายพันปีตามการอ้างอิงประวัติศาสตร์ของนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ (ดูรายละเอียดจากบุญเสริม  ฤทธราภิรมย์, 2557)  ชนเผ่ามานิมีลักษณะรูปพรรณที่ค่อนข้างล่ำเตี้ย สันทัด ผิวสีดำแดง ผมหยิก เป็นกลุ่มคนที่จัดอยู่ในตระกูลนิกริโต (Negrito) และตระกูลออสโตรเนเชียน (Austronesian)


บุญเสริม (2557) อธิบายความแตกต่างของคำว่าตระกูลนิกริโต (Negrito) เป็นรากศัพท์มาจากภาษาสเปน แปลว่า “Little Negro” ที่หมายถึง พวกนิโกรตัวเตี้ยแคระ หรือพวก ปิ๊กมี (Pygmy) ลักษณะเด่นคือ มีผิวดำ ผมบนศีรษะหญิกหย็อง หรือขมวดกลมเป็นก้นหอย หรือหยิกฟูเป็นกระเซิง ริมฝีปากหนา ฟันซี่สั้นโต จมูกแบนกว้าง จัดเป็นพวกนิกรอยด์ (Negroid) ถิ่นฐานเดิมของพวกนิกริโตหรือเงาะเซมังมาจากทวีปแอฟริกา สันนิษฐานว่าเมื่อสมัยหลายล้านปีก่อน แผ่นดินทวีปเอเชียกับแอฟริกาติดกันเป็นผืนเดียว พวกนิกริโตได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบเอเชียตอนใต้ ได้แก่ หมู่เกาะอันดามัน แหลมมลายู ฟิลิปปินส์ และแถบเหมู่เกาะทะเลใต้ ส่วนพวกตระกูลออสโตรเนเชียน (Austronesian) หรือที่รู้จักกันในชื่อพวกซาไก หรือ ซะไก มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เซนอย (Senoi) พวกนี้มีผิวดำคล้ำ ผมเป็นลูกคลื่น คดไปคดมา เป็นพวกเดียวกันกับพวกดยัค (Dyak) ในเกาะบอร์เนียว พวกบาตัก (Batak) ในเกาะสุมาตรา พวกชาวเลหรือชาวน้ำและพวกข่าในตอนใต้ของจีน ลาว และเวียดนาม คำว่า ออสโตรเนเชียน (Austronesian) แปลว่า “ชาวเกาะทะเลใต้” จำแนกคำได้ดังนี้ austro แปลว่า ทิศใต้ ส่วน nesian แปลว่า ชาวเกาะ พวกนี้อพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีนลงมาอาศัยตามเกาะต่างๆ แล้วเข้ามาอยู่ในแผ่นดินใหญ่ภายหลัง จึงเป็นพวกผิวเหลืองหรือ มองโกลอยด์ (Mongoloid) ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมีความแตกต่างกันของกลุ่มเซมังและซาไก


บุญเสริม (2557) ยังอธิบายถึงเหตุที่มีการเรียกชนเผ่าพื้นเมืองทางใต้ของไทยเป็นซาไกทั้งหมด สืบเนื่องจากการพัฒนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ที่กรมประชาสงเคราะห์ได้รวบรวมกลุ่มชาวเงาะภาคใต้ประมาณ 60 คนไปอาศัยในเขตนิคมสร้างตนเองธารโต โดยจัดพื้นที่ทำกินให้ประมาณ 300 ไร่ ในหมู่บ้านจาเราะมีราริมถนนสายที่ 6 เบตง-ยะละ 4 กิโลเมตร เพื่อให้อยู่เป็นหลักแหล่งไม่ต้องเร่ร่อน แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาอีก 10 ปี คือ พ.ศ. 2516 จึงมีการชักชวนให้มารวมตัวใหม่และสร้างบ้านถาวร 8 หลัง จัดที่ทำกินให้ ปลูกยางพันธุ์ดีเพื่อเป็นแหล่งรายได้และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านซาไก” โดยเรียกตามที่ชาวบ้านทั่วไปเรียก โดยไม่ได้ศึกษาความรู้ทางด้านชาติพันธุ์วิทยาหรือประวัติศาสตร์ให้ดี ต่อมารองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ได้มารับรองชื่อนี้ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ (2529) ของสถาบันทักษิณไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณว่าเงาะเซมัยกับซาไกเป็นเผ่นเดียวกัน จึงทำให้เป็นที่ยอมรับและแพร่หลาย

ชนเผ่าพื้นเมืองมานิ มีพัฒนาการชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องและยาวนานในผืนป่าแหลมมลายูตั้งแต่ภาคใต้ของไทยไปจนถึงประเทศมาเลเซีย ซึ่งทางมานุษยวิทยาชาติพันธุ์จะเรียกว่าเซมังหรือซาไก เป็นข้อถกเถียงทางวิชาการที่แตกต่างจากความต้องการของชาวชนเผ่าที่ต้องการให้เรียก “มานิ” ดังที่เสนอไปแล้วข้างต้น ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมผืนป่าทางแถบภาคใต้ของไทยจึงมีกลุ่มชาวเงาะป่าซาไก ในนามเรียกขานใหม่ว่า “มานิ” กลุ่มนี้อาศัยและเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องบริเวณผืนป่าเทือกเขาบรรทัดและสันกาลาคีรีในปัจจุบัน