โครงสร้างสังคมและครอบครัวมานิ

โครงสร้างทางสังคม

พัฒนาการทางสังคมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมานิ จากกลุ่มสังคมหาของป่า-ล่าสัตว์ ก่อให้เกิดพัฒนาการของกลุ่มชนเผ่ามานิกึ่งเร่ร่อนกึ่งตั้งถิ่นฐาน และกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร เป็นการปรับตัวต่อแรงกดดันในการพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปากท้อง โดยปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญ ได้แก่ สภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าที่ลดลงและการแปรเปลี่ยนของป่าไม้เป็นสวนยางพาราที่สำไปสู่การปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอก

แม้ว่าจะมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองมานิ แต่สิ่งที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางสังคมของคนเหล่านี้นั่นคือ “สถาบันครอบครัว” ครอบครัวชาวมานิมีความแตกต่างจากครอบครัวในสังคมคนไทยทั่วๆ ไป  เพราะครอบครัวมานิ คือ กลุ่มคนที่รวมตัวกันจากความรัก ความผูกพัน มีปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อกูลต่อกัน มีลักษณะเฉพาะที่ไม่จำเป็นต้องมีความผูกพันทางสายโลหิตหรือกฎหมาย ดังนั้น 1 ชุมชนหรือที่เรียกว่า “ทับ” ของชาวมานิ จึงเป็นเสมือนหนึ่งครอบครัวขยาย (Extended Family) 

การสืบเชื้อสายหรือการผลิตสมาชิกใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอยู่กินแบบผัวเดียวเมียเดียว และฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงเป็นใหญ่/มีอำนาจตัดสินใจ แต่ขึ้นอยู่กับการสมัครใจและตกลงใจของทั้งสองฝ่าย การเปลี่ยนคู่ครองจึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกันระหว่างหญิงและชาย แต่ที่เป็นลักษณะเฉพาะก็คือ ถ้าฝ่ายชายตกลงอยู่กันกับฝ่ายหญิงๆ มีลูกติดมากี่คน ฝ่ายชายนั้นต้องเลี้ยงดูลูกติดของฝ่ายหญิงเสมือนลูกของตนเองเสมอ 

  ความสัมพันธ์ในครอบครัวของชนเผ่าพื้นเมืองมานิจึงสามารถอธิบายได้ดังโครงสร้างความสัมพันธ์ดังนี้

ภาพ ระบบความสัมพันธ์และเครือญาติของชนเผ่าพื้นเมืองมานิ  

จากภาพ เป็นโครงสร้างของครอบครัวชาวมานิในพื้นที่ป่าบอน จังหวัดพัทลุง ที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวของชาวมานิในพื้นที่จังหวัดสตูล แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของชาวมานิจนเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่มานิก็ยังคงมีวิถีชีวิตที่ยังสัมพันธ์กับป่า ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่หามาจากป่า ที่อยู่อาศัย พิธีกรรม ตลอดจนการใช้สมุนไพรที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่าได้อย่างกลมกลืน ในอดีตนั้นมานิจะนำเปลือกไม้ ใบไม้บางชนิดมาใช้นุ่งห่มปกปิดร่างกาย ส่วนมากจะเปลือยท่อนบนทั้งหญิงและชาย ส่วนเด็กไม่สวมอะไรเลย ปัจจุบันชาวมานิรับวัฒนธรรมมาจากสังคมเมือง ผู้ชายสวมเสื้อ นุ่งโสร่ง กางเกงหรือผ้าขาวม้า ผู้หญิงสวมเสื้อ นุ่งผ้าถุง กระโปรง หรือกางเกง ส่วนเด็กมีบ้างที่ไม่สวมเสื้อผ้า บางครั้งในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวของชาวมานิบางกลุ่ม ยังรู้จักการแต่งกายสวยงาม รู้จักการใช้เครื่องสำอาง หรือเครื่องประดับที่ได้มาจากชาวบ้าน เป็นต้น