วิถีวัฒนธรรมชาวมานิ

ลักษณะที่พักของมานิกลุ่มที่เคลื่อนย้ายตามแหล่งงอาหาร

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของมานิ

ชนเผ่าพื้นเมืองมานิ มีวิถีชีวิตพึ่งพาอยู่กับธรรมชาติ ความต้องการปัจจัยสี่ทั้งที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยารักษาโรค ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าไม้เป็นความจำเป็นพื้นฐานสำหรับพวกเขาที่เกื้อกูลการดำรงชีวิต การใช้เงินตราเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มของพวกเขาแทบจะไม่ปรากฎ ยกเว้นการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนภายนอก  

มานิในปัจจุบันถือว่าไม่แตกต่างอะไรมากนักกับในอดีต มีเพียงการใช้ภาษาที่ใช้พูดถ้าพูดกันเองในเผ่าพวกเขาก็จะใช้ภาษามานิ แต่ถ้าพูดกับคนปกติก็จะใช้ภาษาใต้ โดยเฉพาะผู้ชายที่พูดภาษาใต้ได้ ส่วนผู้หญิงจะไม่ค่อยพูด ลักษณะนิสัยของพวกเขาดูแล้วพวกเขาจะเป็นคนนิ่งๆ เมื่อมีคนเข้าเยี่ยม จะมีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่ร่วมออกมาพูดคุย โดยธรรมชาติพวกเขาก็อยากอยู่แบบส่วนตัว ไม่ชอบให้ใครมาวุ่นวายมากนัก จึงเป็นวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของพวกเขา

เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมการเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในผืนป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของไทย เทือกเขานครศรีธรรมราชหรือเทือกเขาบรรทัด นับเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนพื้นเมืองชาวมานิ การตั้งถิ่นฐานของชาวมานิ ณ บริเวณป่าใดๆ ของเทือกเขาบรรทัด จะเป็นดัชนีสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพวกเขา

ชนเผ่าพื้นเมืองมานิ มักเลือกพื้นที่ทำเลตั้งถิ่นฐานในภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาในเขตป่าไม้ที่อยู่ลึกห่างไกลจากชุมชนชาวบ้านทั่วไป แต่ภูมิประเทศเหล่านั้นต้องมีองค์ประกอบของลำธารหรือน้ำตกอยู่ใกล้ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า พืชอาหารประเภทหัวมัน และต้องเป็นบริเวณที่มีไม้ไผ่และปาล์มจั๋งอยู่ไม่ไกลนัก เพราะใช้ประโยชน์เป็นทั้งการสร้างที่พักและอาวุธสำหรับล่าสัตว์ที่เรียกว่า “ตุด” หรือ “บอเลา”

ลักษณะที่พักอาศัยของมานิกลุ่มที่ยังคงเคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหาร มักจะสร้างด้วยไม้ไผ่และใบไม้ตระกูลปาล์มเรียกว่า “ทับ” มีลักษณะเป็นเพิงหมาแหงน สำหรับอาศัยหลับนอนและพร้อมเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหาร แต่ละทับจะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 20-30 คน